|
 |
|
|
|
|
บทความหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ( 13 มีนาคม 2517 )
นิคม จันทรวิทุร คำพิพากษาประวัติศาสตร์
|
ตั้งแต่ต้นปีใหม่จนถึงปัจจุบัน ประชาชนได้อ่านและฟังข่าวร้ายต่างๆตลอดมา เริ่มแต่การปล้นเงินเดือนของสำนักกรรมการปฏิรูปที่ดิน ตามติดมาด้วยข่าวไฟคลอกหญิงสาวที่ภูเก็ต และการฆาตกรรมนักประพันธ์หญิง แต่ทั้งหมดนี้มีข่าวที่น่ายินดีข่าวหนึ่งที่ประชนไม่น้อยอาจไม่ทราบเพราะมีหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับเสนอข่าวนี้และเป็นเพียงข่าวเล็กๆเท่านั้น ข่าวนี้ก็คือ ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าสงที่เป็นเด็กตามอัตราของกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางคดีนี้เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ด้านการแรงงานและสวัสดิการสังคมของประเทศไทยซึ่งจะมีผลเกื้อกูลและผลักดัน การคุ้มครองแรงงานเด็กให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงาน
ในแง่ของกฎหมาย คำพิพากษาของศาลแรงงานเป็นการตีความอย่างชัดแจ้งของกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำว่า ค่าจางขั้นต่ำที่ทางราชการประกาศใช้บังคับกับลูกจ้างทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย ฉะนั้นการหลีกเลี่ยงใดๆเป็นการผิดกฎหมายและต้องได้รับการลงโทษ
ในแง่สังคม คำพิพากษาฉบับนี้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานที่จะเข้าดูแลคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบ สังคมเด็กและเยาวชนทั่วไปในแง่แรงร่างกายและจิตใจจะต้อลงได้รับการอบรมสั่งสอน หาความรู้ ฝีมือ ประสบการณพอสมควรก่อนที่จะทำงานเป็นหลักฐาน เด็กและเยาวชนที่ที่ทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยย่อมเสี่ยงต่อการมีอนามัยและสุขภาพเลวร้ายหมดโอกาสที่จะหาความรู้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีงานที่มีรายได้ที่มีหลักประกันไม่เพียงพอและส่งผลต่อการอบรมลูกหลานช่วงรุ่นต่อจากเขาไปด้วย
โดยเหตุนี้คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางครั้งนี้ย่อมจะเป็นเครื่องสังวรแก่นายจ้างว่า การจ้างแรงงานเด็กนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ตัวนายจ้างเอง ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้เด็กทำงานก่อนวัยที่สมควร ซึ่งเป็นสิ่งดีสำหรับสังคมส่วนรวม เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมากนายจ้างโดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็ก มักจะจ้างแรงงานเด็กทำงานเพราะค่าจ้างต่ำ อย่างไรก็ดีอาจมีบางท่านค้านว่าการใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเคร่งครัดจะทำให้เด็กว่างงานและก่อความเดือดร้อนแก่เด็กและครอบครัว ผู้เขียนยอมรับว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีอยู่บ้าง และในการร่างกฎหมายแรงงานซึ่งผู้เขียนก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ แต่เมื่อได้คำนึงผลดีผลเสียโดยเฉพาะในระยะยาวแล้ว ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียว ซึ่งความจริงค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดก็เป็นผลมาจากข้อหารือระหว่างตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายเป็นกลางสำหรับค่าจ้างที่แรงงานไม่มีฝีมือทั้งหลายควรจะได้รับเพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
กล่าวโดยย่อ ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศว่า คนทำงานไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร เพศชายหรือหญิง เชื้อชาติ ศาสนาใดๆก็ควรจะได้รับค่าจางโดยเท่าเทียมกันตามผลของงานที่ทำและให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างปกติสุขตามควร
ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน การที่จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลายอัตราและกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับเด็กเป็นพิเศษจะมีข้อเสียมาก โดยเฉพาะทำให้นายจ้างเลือกเด็กทำงานและปล่อยให้ผู้ใหญ่ว่างงาน ตัวเลขในปัจจุบันก็น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว คือ ในขณะที่มีผู้ว่างงานอยู่ถึง 3 ล้านคน มีเด็กอยู่ระหว่าง14-20ปี ทำงานอยู่ถึง 3 ล้านคน
ประการสุดท้ายประเทศไทยของเราได้เจริญก้าวหน้ามามากในช่วง 30 ปีที่แล้ว และทางราชการกำลังส่งเสริมเด็กและเยาวชนโดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯฉบับปัจจุบัน ฉะนั้นการที่นายจ้างจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางโดยถูกต้องและให้ลูกจ้างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมก็น่าที่จะเป็นเรื่องที่ควรแก่การได้รับการสนับสนุนโดยทั่วไป
|
| |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|