|
 |
|
|
|
|
บทความพิเศษ นิคม จันทรวิทุร รำลึกถึงปรีดี และการปฏิวัติที่แท้จริง |
|
การเมืองไทยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด เริ่มแต่ ผบ.ทบ.ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ ส.ส. และชี้ทิศทางการเมืองที่จะนำไปสู่ การปฏิวัติประชาธิปไตย จนนำมาซึ่งการคัดค้านโต้แย้งจาก ส.ส.บางท่าน เช่น ส.ส.ฉลาด วรฉัตร และเสาเอกประชาธิปไตย ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช
อุณหภูมิการเมืองพุ่งขึ้นสูงสุดเมื่อมีการจัดประชุม สภาปฏิวัติ ขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆนานา บ้างถือเป็น ตลกการเมือง บ้างถือเป็นความพยายามของกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการขานรับข้อคิดของ ผบ.ทบ. บ้างถือเป็นการคุกคามรัฐสภาและเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บางท่านเห็นว่าสะท้อนถึง ทางตัน ของการเมืองไทย
การตอบโต้และการโต้ตอบที่ล้อมกรอบรอบ การปฏิวัติประชาธิปไตย ในขณะนี้ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงการปฏิวัติที่แท้จริงครั้งแรกของไทย นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และบุคคลที่เป็นมันสมองของการปฏิวัติ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งจะมีอายุครบ 83 ปี ในวันที่ 11 พฤษภาคม ศกนี้
การกล่างถึงท่านและผลงานของท่านอีกครั้งหนึ่งนี้คงจะเป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์
ปรีดี พนมยงค์ เป็นชีวิตของสามัญชนที่ก้าวขึ้นมาจากลูกชาวนาที่มุ่งหน้าในการหาความรู้จนเป็นนักเรียนเรียนดี เมื่อสำเร็จวิชากฎหมายก็เป็นนักนิติศาสตร์ที่ปราดเปรื่อง ต่อมาสอบชิงทุนของกระทรวงยุติธรรมได้ไปศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศสดินแดงแห่งศิลปะวิทยาการ และที่ซึ่งเป็นต้นแบบของการปฏิบัติทางสังคมครั้งสำคัญๆ
การศึกษาและการเรียนทั้งด้านกฎหมายและลัทธิเศรษฐกิจการเมืองจากที่นี่ ทำให้อาจารย์ปรีดีมีภาพร่างเกี่ยวกับ การปฏิวัติประชาธิปไตย อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้มีฐานะสำคัญระดับมันสมองของการปฏิบัติความโดดเด่นทางปัญญาที่เหนือกว่านักปฏิวัติใด ๆในคณะราษฎรของอาจารย์ปรีดีมาจากรากฐานความผูกพันของชีวิตลูกชาวนา และผนวกกับความรู้และประสบการณ์ระหว่างเป็นนักศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อกลับถึงประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2470 อาจารย์ปรีดี แสดงความโดดเด่นทางปัญญาในฐานะครูสอนนักกฎหมายที่ดีเยี่ยม ท่านบรรจุวิชากฎหมายการปกครอง (หรือก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ) ไว้เป็นหลักสูตรการสอน ส่งผลให้ปัญญาขนสมัยนั้นเริ่มตื่นตัวต่อวิชากฎหมายกับการจัดระเบียบทางสังคมใหม่ อันถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รองรับการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นเป็นจริงในอีก 5 ปีข้างหน้า
ในฉากการปฏิวัติ 2475 อาจารย์ปรีดีได้เป็นมันสมองของคณะปฎิวัติ ตระเตรียมคำประกาศ ร่างแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดรูปการปกครองในอนาคต โดยเฉพาะเค้าโครงการเศรษฐกิจ เนื้อหาสาระที่กลั่นกรองจากมันสมองของอาจารย์ปรีดี ถือเป็นหัวใจหลักของการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเน้นย้ำถึงหลัก 6 ประการ ได้แก่ การรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายให้มั่นคง การรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ การให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาค มีอิสรเสรีภาพ ได้รับการศึกษา และมีงานทำ
หลักทั้ง 6 ประการ ปรากฏเป็นรูปธรรมในสาระเค้าโครงการเศรษฐกิจที่เน้นบทบาทของรัฐ เป็นแกนกลางสำคัญในการจัดสรรกำลังแรงงาน เทคโนโลยีและการรวมตัวของแรงงานในภาคเกษตร และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นระบบสหกรณ์ การจัดสรรที่ดินโดยการเวนคืน สร้างระบบการผลิตรวมหมู่ของแรงงานและด้วยเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ และการจัดสรรทุนโดยการเก็บภาษีมรดก การบริหารการเงินด้วยความสมดุลระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประเทศกับชาติต่าง ๆ ทั้งนี้ จะทำให้ราษฎรมีงานทำ มีการศึกษา และมีคุณภาพชีวิตและคุณภาพทางการเมืองที่ดียิ่งขึ้น
กระบวนการปฏิวัติที่เริ่มเมื่อปี 2475 ได้ดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นจนถึงปี 2490 ในช่วงเวลาดังกล่าว เราได้เห็นบทบาทของอาจารย์ปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เพื่อมุ่งหมายให้ราษฎรไทยได้รับการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาให้กว้างขวางขึ้น มหาวิทยาลัยเปิดแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นและดำเนินการต่อมาจนผลิตปัญญาชนที่เป็นบุคลากรสำคัญของชาติในด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยปัญญาชนที่มีจิตใจรักประชาธิปไตย จึงทำให้ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยมีเลือดเนื้อและวิญญาณของชาวธรรมศาสตร์ดำรงอยู่คู่กันมาตลอดจนปัจจุบัน
ในชีวิตทางการเมือง ปรีดี พนมยงค์ ได้สะท้อนภาพของนักการเมืองอุดมคติที่ต่อสู้เพื่ออุดมคติอย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ เหตุที่เค้าโครงการเศรษฐกิจถูกกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเดินตามรอยคอมมิวนิสต์ อาจารย์ปรีดีต้องต่อสู้กับข้อกล่าวหานี้จนต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศสระยะหนึ่ง แต่แล้วก็สามารถลบรอยมลทินนี้ได้ กลับมามีบทบาทในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึง 2 สมัย ทำให้ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อประชาราษฎร์มากยิ่งขึ้น
เมื่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้สร้างผลงานอันลือชื่อ โดยสามารถเจรจากับต่างประเทศ แก้ไขสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนทำให้ประเทศไทยได้รับเอกราชทางศาลอย่างสมบูรณ์ ชีวิตความเป็นรัฐมนตรีในท้ายสุดก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ปฏิรูประบบการเงินการคลังให้เหมาะสม
ช่วงนี้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ปรีดีแลเห็นภัยของการคุกคามของมหาอำนาจโดยเฉพาะญี่ปุ่น ขณะนั้นท่านไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากแต่มามีบทบาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ก็สามารถปกปักรักษาราชบัลลังค์และประชาราษฎร์ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของญี่ปุ่นโดยการเปิดสงครามใต้ดินด้วยขบวนการเสรีไทย ที่ซึ่งคนหนุ่มสาวและผู้รักชาติทั้งหลายได้เข้าร่วมสร้างเกียรติประวัติในการต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ
ผลของการต่อสู้ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกอยู่ในฐานะฝ่ายแพ้สงคราม และรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ อาจารย์ปรีดีเองได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสในฐานะผู้ทำประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ ประชาชน และราชบัลลังก์
ชีวิตทางการเมืองของอาจารย์ปรีดีเริ่มจากเป็นเลขาธิการรัฐสภาคนแรก เป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ เป็นรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง และในที่สุดก็ต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่ต่างประเทศ และจบชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2526
ในฐานะนักวิชาการ อาจารย์ปรีดีเป็นนักการศึกษาที่ก้าวหน้า นักประวัติศาสตร์ที่ยึดมั่นความถูกต้อง นักนิติศาสตร์ที่ปราดเปรื่อง อาจารย์ปรีดีรักษาความเป็นบัณฑิต จนถึงบั้นปลายชีวิตอาจารย์ปรีดียังเป็นแหล่งภูมิปัญญาของปัญญาชนไทยตลอดเวลา อาจารย์ปรีดีผลิตผลงานทางความคิดออกมาให้ปรากฏอย่างสม่ำเสมอ เป็นงานเขียนที่ใช้ศึกษาอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่สืบมาจนปัจจุบัน
ผลงานของอาจารย์ปรีดีได้ชี้ได้เห็นถึงความหมายของความเป็นนักปฏิวัติ และการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่แท้จริงนี้ มิใช่เพียงการกรุยทางไปสู่อำนาจโดยขาดซึ่งภูมิปัญญาและความกล้าหาญทางจริญธรรมยิ่งไม่ใช่เพียงการพูดชวนเชื่อ หากเป็นที่การกระทำกับการพูดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าการปฏิวัติ 2475 ได้ยุติบทบาทไปแล้วอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี 2490 แต่เราจะพบว่า ชีวิตและผลงานของปรีดี พนมยงค์ ยังคงจรรโลงใจผู้รัชาติรักประชาธิปไตยรุ่นแล้วรุ่นเล่าตลอดมา
ไม่ว่าท่านใดจะเห็นด้วยกับแนวคิดและอุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดีแค่ไหนเพียงไร แต่ทุกคนคงจะยอมรับว่า อาจารย์ปรีดีเป็นคนไทยที่รักชาติรักประชาชน และได้สร้างสรรค์งานอันเป็นประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิวัติที่แท้จริง จะต้องนำไปสู่ความเป็นเอกราชของชาติ ความอยู่ดีกินดีของประชาชนส่วนใหญ่ และความเป็นคน ไท ตลอดไป
ปรีดี พนมยงค์ เมื่ออายุ 83 ปี ยังคงเป็นนักปฏิวัติในความหมายที่จริงแท้แน่นอนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะประสบเคราะห์กรรมใดๆ ไม่มีผู้ใดกล้าครหาท่านในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นรัฐบุรุษ ความเป็นนักคิดที่ยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|