|
 |
|
|
|
|
บทความหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
(วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2527) นิคม จันทรวิทุร
ญี่ปุ่นในยุคเครื่องจักรและหุ่นยนต์ |
|
ในบทความฉบับก่อนผู้เขียนได้กล่าวถึงว่า ญี่ปุ่นกำลังเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกการผลิตและใช้หุ่นยนต์ โดยในปี 2525 มีหุ่นยนต์ใช้ 13,000 ตัว ผู้เขียนได้อ่านพบรายงานเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ของญี่ปุ่นมีสาระที่น่าสนใจหลายประการ จึงขอถ่ายทอดมาให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนได้ทราบและพิจารณา
การผลิตและใช้หุ่นยนต์ของญี่ปุ่นในชั้นต้นก็เริ่มจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบวกกับค่าจ้างแรงงานได้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยนับตั้งแต่ปี 2498 ค่าจ้างแรงงานได้มีการปรับกันทุกปี บางปีได้เพิ่มสูงถึง 10-13% นอกจากนี้การใช้หุ่นยนต์ในงานพิเศษ เช่น งานที่มีอันตรายสูง งานที่ต้องทำเกี่ยวกับความร้อน ต้องอาศัยความแม่นยำถูกต้องและงานที่มีลักษณะจำเจ
เมื่อเริ่มใช้ใหม่ก็เกี่ยวข้องกับงานไม่กี่ประเภท คนงานและสหภาพแรงงานก็พอใจและไม่มีปฏิกิริยาแต่อย่างใด
มาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ การใช้หุ่นยนต์ได้เพิ่มมากขึ้นและขยายไปยังการผลิตอื่น ๆ เช่น โรงงานผลิตรถยนต์การผลิตเครื่องไฟฟ้าการต่อเรือการผลิตกล้องถ่ายรูป รายงานได้กล่าวว่าหุ่นยนต์ตัวหนึ่งสามารถทำงานแทนแรงงานคนได้ถึง 4 คน ประมาณว่าหากอัตราการใช้หุ่นยนต์ในญี่ปุ่นยังเป็นไปในอัตราอย่างปัจจุบันภายในปี 2543 (คืออีก 16 ปี) ข้างหน้าคาดกับว่าคนงานประมาณ 4-10 ล้านคน จะต้องว่างงานจากการที่หุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่แทน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์เองและมีความก้าวหน้าในทางอุตสาหกรรมสูง ดังจะเห็นว่าในปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกก็ย่อมสามารถนำคนที่ถูกทดแทนจากหุ่นยนต์ไปทำงานด้านอื่นได้โดยการจัดอบรมคนงานใหม่เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับงานที่เปลี่ยนแปลงไปแต่การขยายตัวของการใช้หุ่นยนต์ก็ยังมีมากขึ้นและขยายไปในเขตอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ผู้นำคนงานและสหภาพแรงงานเริ่มให้ความสนใจต่อเรื่องนี้มีการติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
ในด้านนักสังคมศาสตร์และนักแรงงานได้มีการศึกษาถึงการใช้หุ่นยนต์นักวิชาการเหล่านี้เห็นว่าการที่คนงานถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์เป็นจำนวนมากย่อมมีผลกระทบทางด้านสังคมส่วนรวมด้วย
ประการแรกในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีชีวิตอย่างเป็นสุขสมบูรณ์จากภาวะการทำงานเต็มที่ อัตราว่างงานเพียง 2% นับว่าตํ่ามากในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมด้วยกันและหากจะเปรียบเทียบกับอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราว่างงานถึง 7% และที่สำคัญในญี่ปุ่นมีระบบการจ้างงานแบบตลอดชีวิตกล่าวคือ (เข้าทำงานที่ใดก็อยู่ได้จนเกษียณอายุ)ไม่ต้องกังวลในเรื่องค่าจ้างและความมั่นคงในการทำงานสามารถใช้จ่ายเงินทองหาความสุขอย่างเต็มที่ เมื่อยุค กดปุ่ม การใช้หุ่นยนต์ย่างเข้ามาคนญี่ปุ่นไม่น้อยก็เริ่มคิดและเป็นห่วงว่าชีวิตที่เป็นสุขมั่นคงในอดีตอาจจะถูกกระทบกระเทือนได้
ประการที่สองมีสัญญาณบางอย่างแสดงว่าวิถีชีวิตเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองก้าวหน้าและภาวะการมีงาทำอย่างเต็มที่เริ่มจะสั่นคลอนปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาที่ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมากเริ่มประสบกับความลำบากในการหางานทำโดยปกตินักเรียนเหล่านี้โดยเฉพาะผู้เรียนดีไม่จำเป็นต้องไปสมัครงานที่ไหน เพราะบริษัทใหญ่ ๆ เช่น โตโยต้า จะส่งแมวมองไปยังโรงเรียนมัธยมฯต่าง ๆ ไปสัมภาษณ์และคัดเลือกไปทำงาน จำนวนคนงานไม่เต็มเวลาในช่วงห้าปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคน งานที่เคยทำโดยช่างฝีมือ ขณะนี้ทำโดยคนงานหญิง (ครึ่งเวลา)โดยมีหน้าที่แต่เพียงกดปุ่ม
ประการที่สามข้อที่นักสังคมศาสตร์และนักแรงงานห่วงกันมากก็คือ ประเทศญี่ปุ่นได้ประสบความเจริญทางเศรษฐกิจสูงตลอดมากว่าสี่ทศวรรษ ประชาชนส่วนใหญ่เคยชินกับความอยู่ความสบายอย่างเต็มที่ครั้นมาถึงปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ความวิตกเป็นปัญหาข้างต้นเริ่มมีขึ้น ความไม่เคยชินในระบบใหม่จะมีผลกระทบต่อรากฐานของชีวิตการทำงานโดยเฉพาะบุคคลที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับภาวะใหม่ อาจจะกลายเป็นบุคคลที่เป็นปัญหาได้ นักวิชาการดังกล่าวต่างห่วงใยถึงปัญหาสังคมต่างๆที่เกิดขึ้น โดยคาดกันว่าในปี ค.ศ.1950 ช่วงนั้นญี่ปุ่นประสบกับปัญหาการว่างงานสูง มีการนัดหยุดงานมาก และเป็นไปอย่างรุนแรงมีผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ประกอบอาชญากรรม และเป็นโสเภณีสูงคนหนุ่มคนสาวจะติดยาเสพติดมากขึ้นด้วย
กล่าวโดยสรุปในขณะที่วิถีชีวิตย่างเข้าสู่วงจรใหม่สัญญาณบอกเหตุทางสังคมก็เริ่มปรากฏออกมา เวลาเท่านั้นจะบอกว่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางสังคมไปได้หรือไม่
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|